San Marino, Republic of (-)

สาธารณรัฐซานมารีโน (-)

สาธารณรัฐซานมารีโน มีชื่อทางการอีกชื่อหนึ่งว่า Most Serene Republic of San Marino เป็นประเทศอิสระที่มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับ ๓ ของยุโรป (รองจากวาติกันและโมนาโก) และเป็นสาธารณรัฐที่เล็กที่สุดเป็นอันดับ ๒ ของโลก [รองจากนาอูรู (Nauru) ซึ่งเป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เพิ่งได้เอกราชใน ค.ศ. ๑๙๖๘] ทั้งยังอาจกล่าวได้ว่าซานมารีโนเป็นสาธารณรัฐที่เก่าแก่ที่สุด ในโลกที่ดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

 ซานมารีโนตั้งอยู่ในดินแดนของประเทศอิตาลีบริเวณภาคกลางตอนบนห่างจากชายฝั่งทะเลเอเดรียติก (Adriatic) เข้าไปประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ประเทศซานมารีโน


มีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า โดยมีเส้นทแยงมุมที่ยาวที่สุดจากมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือถึงมุมด้านตะวันตกเฉียงใต้ยาวเพียง ๑๓ กิโลเมตร พื้นที่ประกอบด้วยภูเขาตีตาโน (Monte Titano) ซึ่งมียอดที่โดดเด่น ๓ ยอด แต่ละยอดมีปราสาทตั้งอยู่ด้านบน และเนินเขาเตี้ย ๆ โดยรอบซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านขนาดเล็กที่เรียกว่า castle หรือ Castelli ในภาษาอิตาลี อีกไม่เกิน ๑๐ หมู่บ้าน รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมด ๖๑ ตารางกิโลเมตร เมืองหลวงชื่อ กรุงซานมารีโนใช้ภาษาอิตาลีเป็นภาษาราชการ มีประชากรประมาณ ๓๒,๗๐๐ คน (ค.ศ. ๒๐๑๔) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

 จากการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณเขาตีตาโนมีการพบชิ้นส่วนวัสดุสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยจักรวรรดิโรมันอยู่บ้าง แต่การตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนในบริเวณนี่สันนิษฐานว่าคงเริ่มขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๔ เมื่อมารีนัส (Marinus) ช่างสกัดหินผู้นับถือคริสต์ศาสนาจากดัลเมเชีย (Dalmatia) [ปัจจุบันอยู่ในโครเอเชีย (Croatia)] พร้อมผู้ติดตามจำนวนหนึ่งได้อพยพหลบหนีการเข่นฆ่ากวาดล้างชาวคริสเตียนตามพระบัญชาของจักรพรรดิไดโอเคลเชียน (Diocletian ค.ศ. ๒๘๔-๓๐๕) แห่งจักรวรรดิโรมันขึ้นมาตั้งถิ่นฐานบนยอดเขาตีตาโน ซึ่งมีความสูงที่สุด (๗๓๘ เมตร) ในบรรดาเขาทั้งหมดในซานมารีโน ต่อมาเขาได้ก่อสร้างหอสวดมนต์ (chapel) ขึ้นบนยอดเขาและดำรงชีวิตแบบผู้อุทิศตนให้ศาสนา ในไม่ช้าก็มีชนชาวคริสต์อพยพหนมาอยู่ด้วยอีกเป็นจำนวนมากจนเกิดเป็นชุมชนอิสระที่พัฒนาขึ้นเป็นสาธารณรัฐที่ดำรงอยู่สืบมาจนทุกวันนี้ ชาวซานมารีโนจึงถือว่ามารีนัสหรือเซนต์มารีโนเป็นนักบุญผู้อุปถัมภ์ประเทศของตนและจัดพิธีเฉลิมฉลองวันเซนต์มารีโนในวันที่ ๓ กันยายนของทุกปี นอกจากนี้ ชาวเมืองยังเชื่อกันว่ากระดูกของเซนต์มารีโนยังคงอยู่ที่วิหารซานมารีโน (Basilica of San Marino)

 ภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงชันยากที่จะเข้าโจมตีทำให้ชุมชนซานมารีโนสามารถดำรงความเป็นอิสระรอดพ้นจากการคุกคามของจักรวรรดิโรมันซึ่งอยู่ในภาวะกำลังจะเสื่อมสลาย และจากการรุกรานของอนารยชนเผ่าต่าง ๆ ในเวลาต่อมา เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ ซานมารีโนก็มีฐานะเป็นรัฐ (commune) อิสระที่มีธรรมนูญปกครองประเทศของตนเอง และปกครองตามระบอบประชาธิปไตยโดยผู้นำที่เรียกว่า กงสุล (consul) แต่ขณะเดียวกันก็อยู่ในอำนาจควบคุมตามระบอบฟิวดัลของบิชอปแห่งซานเลโอ (San Leo) ด้วย

 ในสมัยกลาง ดินแดนตอนเหนือของคาบสมุทรอิตาลีประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ ที่มีอำนาจปกครองตนเองและผู้ปกครองรัฐทั้งหลายต่างก็พยายามที่จะขยายอิทธิพลและเขตแดนของตนเข้าครอบครองดินแดนใกล้เคียง รัฐที่อยู่ใกล้กับซานมารีโนคือรีมินี (Rimini) เมืองท่าริมทะเลเอเดรียติก เป็นรัฐที่มีความเข้มแข็งและอิทธิพลสูง ผู้ครองรัฐ ได้แก่ ตระกูลมาลาเตสตา (Malatesta) รีมินีต้องการผนวกซานมารีโนเข้าเป็นดินแดนของตน แต่ชาวซานมารีโนซึ่งหวงแหนความเป็นอิสระได้พยายามต่อต้านอย่างเข้มแข็งโดยอาศัยความได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศซึ่งเป็นเขาสูงชัน นอกจากนี้ ซานมารีโนยังได้รับการปกป้องคุ้มครองจากตระกูลมอนเตเฟลโตร (Montefeltro) ผู้ครอบครองราชรัฐอูร์บีโน (Urbino) ซึ่งเป็นรัฐเพื่อนบ้านเช่นเดียวกับรีมินีและเป็นคู่แข่งของรีมินีด้วย ทำให้สามารถรอดพ้น


จากการถูกยึดครองทั้งจากรีมินีและรัฐอื่น ๆ ใน ค.ศ.๑๓๕๑ ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาของ “การคุมขังแห่งบาบิโลน” (The Babylonian Captivity ค.ศ. ๑๓๐๙-๑๓๗๘) ที่สันตะปาปาทรงสูญสิ้นอำนาจและถูกฝรั่งเศสบังคับให้ไปประทับที่เมืองอาวีญง (Avignon)ในฝรั่งเศส บิชอปเปรุซซี (Peruzzi) ก็ได้พ่ายแพ้ต่อพวกกิเบลลีน (Ghibelline) ที่สนับสนุนจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* และต้องสูญเสียซานเลโอ ชาวซานมารีโนจึงเห็นเป็นโอกาสเสนอให้ที่พำนักแก่บิชอป โดยบิชอปต้องยอมลงนามในเอกสารต่าง ๆ ที่จะปลดเปลื้องซานมารีโนจากเงื่อนไขต่าง ๆ ของระบอบการปกครองแบบฟิวดัล

 ใน ค.ศ.๑๔๖๓ สันตะปาปาไพอัสที่ ๒ (Pius II ค.ศ. ๑๔๕๘-๑๔๖๔) ได้ยกหมู่บ้านเซร์ราวัลเล (Serravalle) ให้ซานมารีโนเป็นการตอบแทนที่ได้ให้ความช่วยเหลือในการต่อสู้กับตระกูลมาลาเตสตาที่เป็นพวกเกวลฟ์ (Guelf) อริของสันตะปาปา นับเป็นการได้ดินแดนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายของซานมารีโนเพราะตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันสาธารณรัฐซานมารีโนมีดินแดนเท่าเดิมมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี ความเป็นเอกราชของสาธารณรัฐซานมารีโนได้ถูกทำลายลงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ใน ค.ศ. ๑๕๐๓ เมื่อ เชซาเร บอร์จา (Cesare Borgia) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “วาเลนตีโน” (Valentino) ซึ่งทรงอิทธิพลสูงทั้งทางศาสนจักรและทางการเมืองในดินแดนอิตาลีขณะนั้นสามารถบุกเข้ายึดครองซานมารีโนได้ นับเป็นครั้งแรกที่ซานมารีโนต้องสูญเสียเอกราช แต่เพียงไม่กี่เดือนต่อมา หลังจากบอร์จาสิ้นชีวิต ชาวเมืองก็สามารถตั้งตนเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ซานมารีโนก็ถูกรีมินีและซันตาร์กันเจโล [Santarcangelo (ค.ศ. ๑๕๔๓)] และต่อมาเวรุกกีโอ [Verucchio (ค.ศ. ๑๕๔๙)] โจมตีจนต้องมีการสร้างขยายกำแพงเมืองให้เข้มแข็งขึ้น และต้องขอความคุ้มครองจากราชรัฐอูร์บีโนมากขึ้นจนประดุจเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของราชรัฐ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เมื่อดุ๊กแห่งอูร์บีโนคนสุดท้ายไม่มีทายาท ซึ่งตามประเพณีทรัพย์สินทั้งปวงของดุ๊กหลังสิ้นพระชนม์จะต้องตกเป็นของศาสนจักร ชาวเมืองซานมารีโนจึงทำเรื่องอุทธรณ์ไปยังสันตะปาปาเพื่อขอความคุ้มครองโดยตรงจากพระองค์หากราชรัฐอูร์บีโนต้องสลายตัวลง สันตะปาปาทรงให้คำมั่นสัญญาเป็นลายลักษณ์ ดังนั้น ต่อมาใน ค.ศ. ๑๖๓๑ เมื่อดุ๊กแห่งอูร์บีโนสิ้นพระชนม์ สันตะปาปาเออร์เบินที่ ๘ (Urban VIII ค.ศ. ๑๖๒๓-๑๖๔๔) ทรงรักษาคำสัญญาและประกาศรับรองความเป็นอิสระของซานมารีโน ตั้งแต่นั้นมา สาธารณรัฐซานมารีโนก็เป็นที่ยอมรับในฐานะเป็นนครรัฐอิตาลีที่มีอำนาจปกครองตนเอง จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อคาร์ดินัลจูลีโอ อัลเบโรนี (Giulio Alberoni) ซึ่งเป็นผู้แทนสันตะปาปา (legate) ไปปกครองเขตโรมาญญา [Romagna - บริเวณตอนเหนือของอิตาลีที่รัฐสันตะปาปา (Papal States) ครอบครองอยู่ในขณะนั้น] ได้ใช้กำลังทหารผนวกซานมารีโนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสันตะปาปาในปลาย ค.ศ. ๑๗๓๙ นับเป็นเหตุการณ์ครั้งที่ ๒ ในประวัติศาสตร์ของประเทศที่ถูก “ต่างชาติ” เข้ายึดครองในเวลาไม่ช้าชาวเมืองก็ร่วมกันขัดขืนอย่างสงบและลอบส่งสารถึงสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ ๑๒ (Clement XII ค.ศ. ๑๗๓๐-๑๗๔๐) เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ดังนั้น ในต้น ค.ศ. ๑๗๔๐ สันตะปาปาจึงทรงยอมรับในสิทธิและอำนาจของรัฐอิสระของซานมารีโน และทำให้ซานมารีโนได้รับเอกราชกลับคืนมา

 เมื่อนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* เข้ารุกรานดินแดนตอนเหนือของอิตาลีในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เขาชื่นชมในความเป็นสาธารณรัฐเสรีนิยมและให้การยอมรับเอกราชของซานมารีโน ทั้งยังเสนอจะให้ดินแดนเพิ่ม แต่ชาวซานมารีโนปฏิเสธไม่ยอมรับโดยให้เหตุผลว่าความเป็นรัฐที่ยากจนและมีดินแดนเพียงน้อยนิดนี้เองที่ทำให้ซานมารีโนสามารถรอดพ้นจากการยึดครองของรัฐเพื่อนบ้านที่ยิ่งใหญ่และหิวกระหายมาได้ หลังสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* ในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* ที่ประชุมได้ประกาศรับรองความเป็นรัฐอิสระของซานมารีโน ในขณะที่สาธารณรัฐเก่าแก่คือ ลุกโก (Lucco) เจโนวา (Genova) และเวนิส (Venice) ถูกยุบ

 นอกจากความรักหวงแหนและภาคภูมิใจในความเป็นเอกราชของประเทศแล้ว ชาวซานมารีโนยังมีความคิดว่าเนื่องจากประเทศซานมารีโนเกิดขึ้นมาจากการเป็นที่ลี้ภัยของผู้ก่อตั้ง ฉะนั้น ซานมารีโนก็ควรเอื้อเพื้อให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยทั้งหลายด้วย ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเป็นช่วงที่มีความพยายามในการรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy)* ซานมารีโนจึงเป็นที่ลี้ภัยการเมืองของนักปฏิวัติจำนวนมาก รวมทั้งจูเซปเป การีบัลดี (Giuseppe Garibaldi)* วีรบุรุษของชาวอิตาลี ผู้นำคนสำคัญของกองกำลังอาสาสมัครเชิ้ตแดงในขบวนการรวมชาติอิตาลี อานีตา (Anita) ภรรยา และผู้ติดตามจำนวน ๑,๐๐๐ คน ซึ่งหลบหนีเข้ามาอยู่ในซานมารีโนใน ค.ศ. ๑๘๔๙ แต่อีก ๒ ปีต่อมากองกำลังร่วมของออสเตรียกับรัฐสันตะปาปาก็เคลื่อนตัวเข้าซานมารีโนเพื่อจับกุมกลุ่มอดีตสมาชิกของสภาโรมัน (Roman Assembly) เหล่านี้ที่มีส่วนร่วมในการเข้ายึดรัฐสันตะปาปาและปกครองในช่วงระยะเวลาหนึ่งระหว่างการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ต่อมาหลังจากที่อิตาลีสามารถรวมชาติได้สำเร็จ ค.ศ. ๑๘๖๑ ซานมารีโนซึ่งเคยให้ที่พักและช่วยพาการีบัลดีและภรรยา ตลอดจนเจ้าหน้าที่หลบหนีจากการจับกุม รวมทั้งให้ยารักษาโรค อาหาร และเงินก็ได้รับการตอบแทนโดยได้รับการยกเว้นจากการผนวกเข้ากับราชอาณาจักรอิตาลี ใน ค.ศ. ๑๘๖๒ ซานมารีโนยังขยายขอบเขตความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรอิตาลีใหม่โดยทำสัญญาพันธไมตรีต่อกัน รัฐบาลอิตาลีรับรองความเป็นเอกราชของซานมารีโนและสัญญาจะให้การปกป้องคุ้มครองด้วย นอกจากนี้ ทั้ง ๒ ประเทศยังตกลงรวมตัวกันในสหภาพศุลกากรและให้ซานมารีโนใช้หน่วยเงินของอิตาลี สนธิสัญญาพันธไมตรีดังกล่าวนี้ยังได้รับการแก้ไขเป็นระยะ ๆ จนถึงปัจจุบัน

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ได้เกิดการปฏิวัติอย่างสงบในซานมารีโน โดยมีการนำเอาระบบการเลือกตั้งสมาชิก Grand Council กลับมาใช้อีก โดยสมาชิกตัองมาจากพวกอาเรนโก (Arengo) ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าตระกูลต่าง ๆ เท่านั้น แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ มีการให้สิทธิการเลือกตั้งแก่ชายที่บรรลุนิติภาวะทุกคน ส่วนพรรคการเมืองก็นิยมจัดตั้งตามพรรคการเมืองในอิตาลี โดยในระยะแรกพรรคสังคมนิยมและพรรคปอปปูลิสต์ (Populist) หรือพรรคคาทอลิกมีบทบาทสำคัญ แต่ต่อมาพรรคฟาสซิสต์ (Fascist) ท้องถิ่นก็เข้ามามีอำนาจพร้อม ๆ กับการขึ้นมามีอำนาจของเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำและเผด็จการทหารอิตาลี แต่เมื่อมุสโสลีนีสิ้นอำนาจใน ค.ศ. ๑๙๔๓ ซานมารีโนก็กลายเป็นประเทศที่ต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์เช่นเดียวกับอิตาลีด้วย

 ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ชาวซานมารีโนได้ลงคะแนนเสียงที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพชาวอิตาลี นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครชาวซานมารีโนจำนวน ๕๐ คนรบกับกองกำลังออสเตรีย และมีการจัดตั้งหน่วยพยาบาลขึ้นในแนวหน้าเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ทหารอิตาลีอีกด้วยส่วนในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ซานมารีโนประกาศนโยบายเป็นกลางและเป็นสถานที่ลี้ภัยให้แก่คนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรปกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน แต่ชาวซานมารีโนจำนวนหนึ่งได้อาสาสมัครเข้ารบในกองทัพอิตาลี เมื่อรัฐบาลฟาสซิสต์สิ้นอำนาจ กลุ่มทหารอาสาสมัครดังกล่าวก็ถูกซานมารีโนจองจำด้วยข้อหากระทำการผิดต่อกฎหมายโบราณที่ห้ามชาวซานมารีโนรับใร์ในกองทัพต่างชาติ แต่ก่อนที่สงครามจะสิ้นสุดลง ซานมารีโนก็ถูกกองทัพนาซีรุกรานและกองกำลังฝ่ายพันธมิตรทิ้งระเบิดใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ซึ่งสร้างความเสียหาย ทั้งแก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอันมาก เมื่อสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลซานมารีโนได้เรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวเป็น


จำนวนเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐจากสหรัฐอเมริกาในช่วงที่สงครามดำเนินอยู่นั้น ชาวซานมารีโนก็ได้แสดงนํ้าใจแก่ผู้อพยพลี้ภัยในประเทศอย่างมาก โดยการแบ่งปันที่พักอาศัย อาหาร และไวน์

 ในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๔๕ ชาวซานมารีโนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพวกที่อนุรักษ์ระเบียบที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยกลางและนิยมขนบประเพณีและพิธีการต่าง ๆ ได้สร้างความตื่นตะลึงให้แก่ชาวโลกด้วยการเลือกพรรคสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เข้าไปเป็นเสียงข้างมากในสภา นับเป็นประเทศเดียวในทวีปยุโรปนอกค่ายคอมมิวนิสต์ที่บริหารปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งยังก่อให้เกิดความขัดแย้งกับอิตาลีที่ในขณะนั้นดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ พรรคนี้ครองเสียงข้างมากและได้จัดตั้งรัฐบาลผสมต่อมาเป็นเวลา ๑๒ ปี จนถึง ค.ศ. ๑๙๕๗ และได้ร่วมในคณะรัฐบาลผสมอีกครั้งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๘-๑๙๘๖ อย่างไรก็ดี พรรคคอมมิวนิสต์ก็มิได้ดำเนิน “การปฏิรูป” ซานมารีโนในแนวทางสังคมนิยม นอกจากดำเนินการให้บริการรักษาพยาบาลแบบให้เปล่าแก่ประชาชนทุกคนจัดทำโครงการก่อสร้างสาธารณะเพื่อลดจำนวนผู้ว่างงานและแบ่งผลผลิตทางการเกษตรร้อยละ ๖๓ ให้แก่เกษตรกรที่รับจ้างเจ้าของที่เพาะปลูก (มากกว่าในอิตาลีที่แบ่งให้เพียงร้อยละ ๕๓) ในด้านการต่างประเทศ ซานมารีโนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรต่างประเทศเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๐๘ โดยเป็นสมาชิกสถาบันการเกษตรระหว่างชาติ (International Institute of Agriculture) ส่วนการเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญในปัจจุบันคือการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ (United Nations)* และสมาชิกสภาแห่งยุโรป (Council of Europe)* ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ และต่อมาเป็นสมาชิกการประชุมเพื่อความร่วมมือกันในยุโรป (Conference on Security and Cooperation in Europe-CSCE) และอื่น ๆ

 สาธารณรัฐซานมารีโนปกครองด้วยระบอบรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญซึ่งพัฒนามาจากธรรมนูญปกครองประเทศในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ รัฐสภาของซานมารีโน ซึ่งเรียกว่า Grand and General Council ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน ๖๐ คน โดยจะมีการเลือกตั้งทั่วไปทุก ๕ ปี สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแต่ไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา รัฐสภามีอำนาจทั้งในด้านนิติบัญญัติและการบริหาร ในด้านอำนาจบริหารนั้นรัฐสภาจะเลือกสมาชิกสภาจำนวน ๒ คนขึ้นมาทำหน้าที่หัวหน้าคณะรัฐบาลและผู้นำประเทศซึ่งเรียกว่า capitani reggenti (captain regent) ผู้ได้รับเลือกไม่มีสิทธิปฏิเสธไม่รับตำแหน่ง และอยู่ในตำแหน่งวาระละ ๖ เดือน โดยเข้ารับตำแหน่งในวันที่ ๑ เมษายนและ ๑ ตุลาคมของปี เมื่อพันจากตำแหน่งแล้วจะไม่สามารถรับตำแหน่งได้อีกจนกว่าจะครบ ๓ ปี นอกจากนี้ รัฐสภายังเป็นผู้เลือกผู้ทำหน้าที่ในคณะรัฐมนตรีซึ่งเรียกว่าสภาแห่งรัฐ (Congress of state) จากสมาชิกสภาจำนวน ๑๐ คน เพื่อทำหน้าที่บริหารงานต่าง ๆ ของประเทศโดยแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบงานคนละกระทรวง

 ซานมารีโนนับเป็นประเทศที่ให้สวัสดิการสังคมแก่ประชาชนอย่างกว้างขวางมาก นอกจากประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายซึ่งรวมไปถึงการให้บริการแก่คนชราแล้ว รัฐยังมีหน้าที่จัดหาที่อยู่อาศัยและงานให้แก่ประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือส่วนในด้านการศึกษานั้น นักเรียนได้เรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจนถึงอายุ ๑๔ ปี และยังมีโครงการให้ความช่วยเหลือสำหรับนักศึกษาที่ต้องการไปศึกษาระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างประเทศอีกด้วย

 สาธารณรัฐซานมารีโนมีกองทัพขนาดเล็กของตนเอง แต่ไม่มีการเกณฑ์ทหาร ทหารในกองทัพสวมเครื่องแบบที่สวยงามสะดุดตา ประกอบด้วย ชุดสีนํ้าเงินหมวกประดับขนนกสีนํ้าเงินกับขาว ถือปืนคาบศิลา และสะพายกระบี่แบบโบราณ นอกจากนี้ยังมีกองทหารองครักษ์ที่ทำหน้าที่อารักขาและเป็นกองเกียรติยศของผู้นำประเทศ ทหารกองนี้สวมเครื่องแบบที่สะดุดตาไม่แพ้กันอันประกอบด้วยกางเกงสีแดง เสื้อนอกสีเขียว หมวกประดับขนนกสีแดงกับขาวและพกปืนพกโบราณ

 ในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากซานมารีโนไม่มีทรัพยากรแร่ธาตุเลย เหมืองหินบนเขาตีตาโนที่เคยเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับงานก่อสร้างและงานฝีมือได้หมดสิ้นไปนานแล้วเศรษฐกิจของประเทศจึงขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ นอกจากนี้ก็มีอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่น การผลิตวัสดุก่อสร้าง สี เครื่องเรือน สิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องถ้วยชาม เครื่องสำอาง ไวน์ ผลิตภัณฑ์อาหาร ประชากรส่วนใหญ่ยังนิยมทำการเกษตรซึ่งมีทั้งการปลูกข้าวต่าง ๆ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด การทำไร่องุ่น สวนผลไม้ การเลี้ยงโคนมกิจการที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศไม่น้อยคือการผลิตดวงตราไปรษณียากรและเหรียญกษาปณ์ ซึ่งซานมารีโนผลิตเงินเหรียญของตนเอง แม้จะใช้หน่วยเงินตามของอิตาลีเป็นเงินตราหลัก ทั้งดวงตราไปรษณียากรและเงินเหรียญของซานมารีโนเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวและนักสะสมทั่วโลก นอกจากนี้ ซานมารีโนยังได้รับค่าตอบแทนจากรัฐบาลอิตาลีอีกจำนวนหนึ่งเป็นค่าตอบแทนที่ให้อิตาลีผูกขาดการผลิตบุหรี่และสินค้าอื่นอีกบางรายการ

 ปัจจุบัน ชาวซานมารีโนซึ่งเรียกว่า Sammarinese จำนวนหนึ่งได้ออกไปอาศัยอยู่นอกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอิตาลี แต่ทุกคนยังคงภาคภูมิใจในความเป็นชาวซานมารีโนที่รักอิสรภาพและความเป็นเอกราชของชาติ สมบัติชิ้นหนึ่งที่ชาวซานมารีโนเก็บรักษาไว้อย่างดีในพิพิธภัณฑ์รวมกับงานคิลปะและสัญลักษณ์ของชาติอื่น ๆ ได้แก่ จดหมายตอบขอบคุณจากประธานาธิบดี เอบราแฮม ลิงคอล์น (Abraham Lincoln) แห่งสหรัฐอเมริกาที่ตอบขอบคุณการแต่งตั้งเขาให้เป็นประชาชนกิตติมศักดิ์ของซานมารีโนซึ่งความตอนหนึ่งกล่าวว่า “Although your dominion is small, nevertheless your State is one of the most honoured throughout history...” อันสะท้อนความรู้สึกของชาวซานมารีโนได้เป็นอย่างดี.



คำตั้ง
San Marino, Republic of
คำเทียบ
สาธารณรัฐซานมารีโน
คำสำคัญ
- การคุมขังแห่งบาบิโลน
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การประชุมเพื่อความร่วมมือกันในยุโรป
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- การรวมชาติอิตาลี
- การีบัลดี, จูเซปเป
- โครเอเชีย
- บอร์จา, เชซาเร
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- พรรคปอปปูลิสต์
- พรรคฟาสซิสต์
- พรรคสังคมนิยม
- พรรคสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ระบอบการปกครองแบบฟิวดัล
- ระบอบฟิวดัล
- รัฐสันตะปาปา
- ลัทธิฟาสซิสต์
- เวรุกกีโอ
- สงครามนโปเลียน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สภาแห่งยุโรป
- สภาแห่งรัฐ
- สหประชาชาติ
- สหภาพศุลกากร
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
เพ็ญแข คุณาเจริญ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-